วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่6 google scholar

“ คลังความรู้วิทยาศาสตร์ บนโลกของ Internet ”
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล (21,750 views) first post: Mon 8 January 2007 last update: Tue 9 January 2007
เสวนาในหัวข้อ “ คลังความรู้วิทยาศาสตร์ บนโลกของ Internet ” มาดูกันว่าอินเตอร์เน็ต จะมาแทนที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และตอบข้อสงสัยอีกมากมายของพฤติกรรมการใช้ Internet เป็นคลังความรู้


สารบัญ

หน้า : 1 อะไร ๆ ก็ค้นได้จากอินเตอร์เน็ต จริงหรือไม่ ?
หน้า : 2 คลังความรู้ดี ๆที่มีในบ้านเรา

หน้าที่ 1 - อะไร ๆ ก็ค้นได้จากอินเตอร์เน็ต จริงหรือไม่ ?
สวัสดีค่ะ เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ช่วง บ่ายโมงครึ่ง ถึงบ่ายสองโมง

ทางคุณรุจเรขา อัศวิษณุ หัวหน้าหน่วยสารสนเทศงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์, หัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข และwebmaster ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ( เว็บไซต์ www.sc.mahidol.ac.th ) ได้มาเสวนาพูดคุยกับ รศ.ดร.วีณา เชิดบุญชาติ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ “ โลกวิทยาการ ” ทางสถานีวิทยุ FM 97 ถึงเรื่อง “ คลังความรู้วิทยาศาสตร์ บนโลกของ Internet ” เราไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่า Internet กับวิทยาศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร







รศ.ดร.วีณา : อินเตอร์เน็ต จะมาแทนที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ?

คุณรุจเรขา : อาจเป็นไปได้ในแง่ของความสะดวกในการเข้าถึง หนังสือและวารสารโดยไม่มีขีดจำกัด และดูเหมือนจะได้อ่านฟรี แต่ที่จริงแล้วไม่มีอะไรฟรี โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีคุณค่า มีราคาอยู่แล้ว อย่างเช่นวารสารทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ของบริษัทสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ ยังคงมีราคาแพงมากเหมือนเดิม เป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนจากการตีพิมพ์ลงในกระดาษ มาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสะดวกต่อการค้นหาและการใช้งาน แต่โชคดีที่เดี๋ยวนี้มีสำนักพิมพ์วารสารทางวิชาการแบบไร้กระดาษและไม่หวังผลกำไร เรียกกันว่าเป็น Open – Access Publishers เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดบนอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ นักวิจัยสามารถส่งบทความไปตีพิมพ์ได้ฟรีทางออนไลน์ ผู้อ่าน download บทความมาอ่านได้ฟรี แถมบทความยังมีคุณภาพดีอีกด้วย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิชาการ โดยเฉพาะในบ้างเรา ซึ่งมักซื้อเทคโนโลยี ซื้อข้อมูลมาใช้เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยได้ผลิตเองพูดถึงหนังสือในห้องสมุดหลายคนคงเคยได้ยินข่าว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมานี้เอง Microsoft ได้เปิดตัว Live Search Books books.live.com รุ่นทดลอง หรือ beta version ขึ้นมาแข่งขันกับ Google ซึ่งที่จริงแล้ว Microsoft ทำได้ค่อนข้างล่าช้ากว่ากำหนด เดิมเคยประกาศไว้ว่าจะเป็นกลางปี 2006 หลักการคือ scan หนังสือทั้งเล่ม จำนวนเริ่มต้นกว่าแสนเล่มจากห้องสมุดขนาดใหญ่ เช่น ห้องสมุดประชาชนแห่งกรุงนิวยอร์ก ( The New York Public Library ) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยคอร์แนลของอเมริกา มหาวิทยาลัยโตรอนโตของแคนาดา และหอสมุดแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร หรือ British Library และจัดทำดรรชนีเพื่อค้นหาคำที่ต้องการ จากหนังจำนวนมหาศาลอย่างไร้ขีดจำกัด กลายเป็นห้องสมุดสำหรับคนทั้งโลก หรือ World Wide Library ซึ่งต่อไปจะมีจำนวนนับล้านเล่ม และ download มาอ่านได้ แต่ทุกหน้าจะประทับข้อความ “ Digitized by Microsoft ” เอาไว้ ทั้งนี้ Microsoft จะระมัดระวังเรื่องของลิขสิทธิ์ โดยเลือกสแกนหนังสือที่ไม่มีลิขสิทธิ์ หรือได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์แล้วท่านั้น นอกจากนั้น ยังชักชวนให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ นำหนังสือมาเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นช่องทางในการโฆษณาและจำหน่ายหนังสืออีกด้วย ( ผู้สนใจติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพิ่มเติมได้จากบทความ “ Microsoft Offers Book Search ” . PC World Magazine , Dec 06, 2006 www.pcworld.com / article / id,128094 – page,1-c, searchengines / article .html มีแม้กระทั้งหนังสือไทยโบราณหายากหลายเล่ม ลองไปค้นเอาเองก็แล้วกันนะคะ







แนวความคิดที่จะสแกนหนังสือนี้ Google ทำล่วงหน้ามาก่อนเป็นปีแล้ว เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Google Book Search ( books.google.com ) เปิดตัวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 แต่ขณะนี้กำลังเดือดร้อนประสบปัญหาถูกฟ้องร้องจากสำนักพิมพ์ในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วน Amazon.com ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายหนังสือบนออนไลน์ขนาดใหญ่ระดับโลก ก็มีการสแกนหน้าหนังสือให้อ่านด้วยเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ต่อการเชิญชวนให้สั่งซื้อตัวเล่มจริง สารานุกรม หรือ encyclopedia เดี๋ยวนี้ ก็มี Wikipedia ( en.wikipedia.org ) ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรี ที่ใคร ๆ สามารถเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้ เป็นนิยมกันมาก เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 มีการจัดทำถึง 200 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย ( th.wikipedia.org ) เมื่อปีที่แล้ววารสาร Nature เคยทำการสำรวจความถูกต้องของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ในหัวข้อต่าง ๆ เปรียบเทียบกันระหว่างสารานุกรมเสรีที่ใคร ๆ ก็เข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้อย่าง Wikipedia กับสารานุกรมที่เก่าแก่และเป็นหนังสืออ้างอิงที่มีชื่อเสียงมาช้านาน อย่าง Encyclopaedia Britannica แทบไม่น่าเชื่อ ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญจำนวน 42 คน ตรวจสอบพบข้อผิดพลาด ( เล็ก ๆ น้อย ๆ ) ใน Encyclopaedia Britannica จำนวนถึง 123 แห่ง ในขณะที่ Wikipedia มี 162 แห่ง และพบข้อผิดพลาดที่จัดว่าร้ายแรง จำวน 4 แห่ง เท่า ๆ กัน ( ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ Internet encyclopaedias go head to head ” . Nature Magazine, 14 Dec.2005 ที่เว็บไซต์ www.nature.com/news/2005/051212/full /438900a.html )

แม้การสำรวจครั้งนี้ จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของ Encyclopaedia Britannica ซึ่งสร้างความไม่พอใจและมีการออกหนังสือชี้แจงคัดค้านเป็นการใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าบนโลกอินเตอร์เน็ตนี้ อะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีผลกระทบต่อแหล่งความรู้ทางวิชาการของเรามากทีเดียว Wikipedia ตอนนี้จัดอันดับเป็นเว็บยอดนิยมมีผู้เข้าใช้สูงสุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลกแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าอันดับต้น ๆ นั้น ได้แก่กลุ่มของ Google ซึ่งมีเว็บไซต์แยกย่อยของแต่ละประเทศ ( Google ของไทยอยู่ในอันดับที่ 199 ) , กลุ่มของ Microsoft ได้แก่ Microsoft , Microsoft Network ( MSN ) , Windows Live ( www.live.com ) , Yahoo , Amazon , YouTube ( แหล่งรวมคลิปวิดีโอสมัครเล่น ) , Ebay ( แหล่งซื้อขายสินค้าส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ) เป็นต้น ( ใครสนใจรายชื่อบนเว็บยอดนิยม 500 อันดับแรก ติดตามการจัดอันดับ traffic rankings ได้จากเว็บไซต์ Alexa Web Search ( www.alexa.com ) ของบริษัท AMAZON







รศ.ดร.วีณา : จะมีการผสมผสานระหว่าง “บันเทิง” กับ “วิชาการ” บนโลกของอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่

คุณรุจเรขา : เดี๋ยวนี้ บรรดายักษ์ใหญ่ในวงการอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Microsoft ที่เน้นความสนุกสนาน บันเทิงและธุรกิจมาก ปัจจุบันหันมาสนใจข้อมูลทาง academic หรือทางการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Google Scholar ซึ่งเป็นระบบบริการสืบค้นผลงานวิจัยหรือบทความจากวารสารทางวิชาการ Google Book Search ซึ่งนำหนังสือมาทำการสแกนให้เป็นดิจิตอลนับแสนเล่ม เพื่อความสะดวกในการสืบค้นในลักษณะของ e – books ส่วนค่าย Microsoft ก็ผลิตระบบสืบค้นบทความทางวิชาการขึ้นมาแข่งขัน แบบตาต่อตาฟันต่อฟันเลย คือมี Live Academic Search เพื่อแข่งกับ Google Scholar และ Live Search Book เพื่อแข่งกับ Google Book Search เป็นต้น ในขณะเดียวกัน หากเราอ่านวารสารหรือนิตยสารทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก เช่น Science magazine ( science.com ) , Nature magazine ( nature.com ) ฉบับอิเล็กทรอนิกส์บนอินเตอร์เน็ต จะพบว่า เดี๋ยวนี้ได้นำรูปแบบบันเทิงเข้ามาใช้ เช่น แทนที่จะอ่านข่าวบนจอภาพหรือพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษอ่านอย่างเดียว ได้มีระบบที่เรียกว่า PODCAST เพื่อฟังเสียงรายการวิทยุ ( เหมือนรายการโลกวิทยาการ ) เป็นไฟล์ MP 3 ไปพร้อม ๆ กับอ่านข่าววิทยาศาสตร์บนจอภาพไปด้วย สำหรับนักเรียนไทยแล้วเท่ากับเป็นการฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวทีเดียว หรือบางเว็บไซต์จะให้บริการเป็น WEBCAST เป็นทั้งเสียงและวีดิโอ เพื่อให้ข่าววิทยาศาสตร์มีความน่าสนใจมากขึ้น เช่นที่เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชื่อดังของอเมริกา Exploratorium หนึ่งในเว็บไซต์ที่ดีที่สุดในโลก สำหรับครูสอนวิทยาศาสตร์ www.exploratorium.edu มีการถ่ายทอดข่าวการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดเก็บรักษาต้นฉบับโบราณที่เขียนด้วยลายมือของ Archimedes นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเมื่อพันปีที่แล้ว ให้ชมเป็น WEBCAST ( คนเดียวกันกับที่กระโดดออกจากอ่างอาบน้ำ วิ่งเปลือยกายแล้วร้องตะโกนว่า “ Eureka ! Eureka ! ” หรือแปลว่า “ I’ve found it ! I’ve found it ! นั่นแหละ ) นอกจากนั้น ใครเคยเล่น Google Earth ซึ่งเป็นระบบ 3 มิติ ในการสำรวจแผนที่โลกนิตยสาร Nature Magazine นำ Google Earth มาใช้ระบุพื้นที่บริเวณที่มีไข้หวัดนกระบาดและมีผู้เสียชีวิต อย่างของประเทศไทย สามารถ map ตรงมายังแผนที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้เลยทีเดียว และ link ต่อไปยัง WHO ให้ข้อมูลรายงานว่ามีเด็กอายุ 6 ขวบเสียชีวิต 2 คนในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ม.ค. และ 2 ก.พ. 2547 วารสารวิทยาศาสาตร์อื่น ๆ เช่นในสาขาเคมี ฟิสิกส์ ก็มีการลงภาพประกอบเป็นโครงสร้างเคมีแบบ 3 มิติ หมุนได้รอบหรือวารสารทางชีววิทยา มีภาพประกอบจากการถ่ายภาพจากกล้องจุลทรรศน์ เป็น animation เคลื่อนไหวได้ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการติดตามข่าวสารทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกในสมัยนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนานไม่น่าเบื่ออีกต่อไป



รศ.ดร.วีณา : อะไร ๆ ก็ค้นได้จากอินเตอร์เน็ต จริงหรือไม่ ?

คุณรุจเรขา : ข้อควรระวังสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่อยากจะฝากไว้ คือ พอค้นหาข้อมูลอะไรไม่เจอจาก Google Search Engine อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มี และควรพิจารณาให้ดีก่อนเชื่อเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ค้นได้จากเว็บ ดูก่อนว่าแหล่งข้อมูลหรือเว็บไซต์เชื่อถือได้หรือไม่ ใครหรือหน่วยงานใดเป็นคนสร้างเว็บไซต์นั้น สำหรับแวดวงการวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ PEW Internet & American Life project ร่วมกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Exploratorium ในรายงานเรื่อง “ The internet as a Resouce for News and Information about science” ( www.pewinternet.org/pdfs/PIP_Exploratorium _Science.pdf ) ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 นี้เอง พบว่าแหล่งข้อมูลแห่งแรกที่คนอเมริกันใช้ค้นหาข่าวและข้อมูลวิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ข่าวจากโทรทัศน์ ซึ่งมีจำนวน 41 % รองลงมาคือค้นจากอินเตอร์เน็ต 20 % ( หรือประมาณ 40 ล้านคน ) อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารวิทยาศาสตร์เพียง 14 % แต่ถ้าใช้ค้นหาข่าววิทยาศาสตร์สำคัญเฉพาะเรื่อง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับ จำนวน 67 % จะค้นจากอินเตอร์เน็ต รองลงมา 11 % คือเข้าใช้ห้องสมุด ที่เหลือเพียงเล็กน้อยไม่กี่เปอร์เซ็นต์จะอ่านจากหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และชมโทรทัศน์

รศ.ดร.วีณา : ศูนย์ความรู้ คลังความรู้ หรือคลังปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ในบ้านเรา ที่น่าสนใจมีที่ใดบ้าง


หน้าที่ 2 - คลังความรู้ดี ๆที่มีในบ้านเรา
ความจริงห้องสมุดเกือบทุกแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัย จะมีบริการผ่านเว็บไซต์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญทีเดียว ตอนนี้ห้องสมุดออนไลน์ของบ้านเรามีข้อมูลทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดเลยค่ะ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหิดลเอง มีห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ที่ให้บริการความรู้สำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผู้ที่สนใจความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารสนเทศเพื่อการวิจัย ( รวมทั้งข้อมูลนำมาสนทนาทั้งหมดในวันนี้ด้วนค่ะ ) มีฐานข้อมูลทางวิชาการ Electronic Databases ให้บริการสืบค้นผ่านทางเว็บไซต์มากกว่า 100 ฐานข้อมูล และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Journals มากกว่า 4,000 รายการ เนื่องจากทางคณะวิทยาศาสตร์เราเน้นเรื่องการศึกษาและการวิจัยให้มีคุณภาพระดับสากล ต่อเนื่องมานานกว่า 48 ปีแล้ว ขอแนะนำชื่อเว็บไซต์ของห้องสมุดสตางค์ มงคลสุขเลยนะคะ หากสนใจจะแวะมาเยี่ยมชมและใช้บริการ อยู่ที่ stang.sc.mahidol.ac.th หรือจะเข้าผ่านทางคณะวิทยาศาสตร์ก็ได้ที่ www.sc.mahidol.ac.th







ส่วนเว็บไซต์ประเภทคลังความรู้ดี ๆที่มีในบ้านเรา อยากจะแนะนำเพิ่มเติม สัก 3 แห่ง ได้แก่

- เว็บไซต์ของศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( Science and Technology Knowledge Center ) www.stkc.go.th กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบริการห้องสมุดเสมือน พิพิธภัณฑ์เสมือน เรียนออนไลน์ ( E – learning ) และคลังความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์

- Gotoknow.org GotoKnow เป็นระบบบล็อก ( Blog ) เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ – ความรู้บนอินเตอร์เน็ต แบ่งย่อยตามกลุ่ม ตามเนื้อหาที่สนใจ ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ส่งเสริม “ การแลกเปลี่ยนความรู้ ” ของคนในสังคมไทยมากที่สุด มีสมาชิกที่เขียนบันทึกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา ทั้งองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐบาล วงการศึกษา และวงการแพทย์จำนวนมากกว่า 8,500 คน และมีผู้เข้าชมกว่า 21,000 คนต่อวัน อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมกาจัดการความรู้เพื่อสังคม ( สคส. ) ฉลองครบรอบ 1 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 นี้เอง

- www.vcharkarn.com วิชาการดอทคอม เสนอเรื่องราวทางการศึกษาสำหรับเยาวชน เป็นเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ดีเด่นรางวัลชนะเลิศในปี 2004 จากสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ( Thai Webmaster Association Award ) และเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในหมวดการศึกษา จาก Thailand Web rank ( TrueHits ) คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย มาช่วยกันเขียนบทความและตอบปัญหาในเว็บไซต์นี้ค่ะ



รศ.ดร.วีณา : แนะนำเว็บไซต์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณรุจเรขา : ผู้ที่พลาดติดตามรายการโลกวิทยาการมาตั้งแต่ต้น สามารถฟังการสัมภาษณ์ย้อนหลัง ได้จากเว็บไซต์ของคณะ ฯ ( www.sc.mahidol.ac.th ) ฟังเสียงการสนทนาในประเด็นเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจทางวิทยาศาสตร์ของอาจารย์ และนักวิจัย ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วกว่า 30 ท่าน และสามารถ click ดูข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาจารย์เหล่านั้น เพื่อดูหน้าตาทำความรู้จัก และอ่านประวัติผลงานวิจัย และหากสนใจจะติดต่อร่วมทำวิจัย หรือสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหาก็ได้ค่ะ เรามีคณาจารย์ประจำจำนวนกว่า 300 ท่าน ผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติจำนวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีผลงานรวมประมาณ 300 บทความค่ะ และในเว็บไซต์มีข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งทุนเพื่อการศึกษาต่าง ๆ มากมาย







และขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ด้วยค่ะ ในวันที่ 7 – 8 – 9 กุมภาพันธ์ ( ก่อนวันวาเลนไทน์ ) ปี 2550 นี้ ซึ่งเป็นวันพุธ – วันศุกร์ ขอเชิญเที่ยวงานมหกรรมหนังสือมหิดล – พญาไท บุ๊คแฟร์ ณ บริเวณรอบตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน มีการออกร้านจำหน่ายหนังสือทุกประเภท และผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ประมาณ 100 บูธ มีกิจกรรมเสวนานักเขียน กิจกรรมประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “ หนังสือคือเพื่อน Books – Best Friend Forever ” รายได้สมทบทุนพัฒนาพิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข ซึ่งเราจัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ยกย่องเชิดชูเกียรติและแสดงความรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรก ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยวิจัยที่สำคัญที่สุดของวงการวิทยาศาสตร์ไทย



เป็นงานสร้างกุศลที่เราภาคภูมิใจมากค่ะ รายละเอียดของงานติดตามได้ที่เว็บไซต์ของคณะวิทยาศาสตร์เช่นกันค่ะ ขอบคุณมากค่ะ




*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
ที่มา

1 ความคิดเห็น:

  1. ครูนับเป็นสัปดาห์ที 5 นะคะ ลำดับตามนี้ด้วยค่ะ

    ตอบลบ